ก่อนอื่นคงต้องเล่าพื้นเพว่าเหตุใดจึงมีชาวจีนมาอาศัยอยู่ในเมืองตานี ซึ่งเป็นหัวเมืองมลายูที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ชาวจีนได้เข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองตานีตั้งแต่สมัยใดไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่เท่าที่ปรากฏในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชัดเจนจากบันทึกของพ่อค้าชาวฮอลันดา เมื่อปีพ.ศ. ๒๑๕๙ ซึ่งตรงกับสมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยของสมเด็จพระเอกาทศรถ ระบุว่ามีชาวจีนอาศัยอยู่ในเมืองตานีเป็นจำนวนมาก กล่าวได้ว่าแทบจะเดินชนกัน ในช่วงเวลานั้นเจ้าผู้ครองเมืองตานีเป็นช่วงต่อเนื่องระหว่างเจ้าหญิงฮียากับเจ้าหญิงบีรู ที่ตั้งเมืองตานียังอยู่บริเวณริมทะเลในตำบลตันหยงลูโล๊ะปัจจุบันนี้ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งคือหลักจารึกหน้าฮวงซุ้ยโบราณที่ค้นพบที่ชายทะเลตำบลตันหยงลูโล๊ะ ที่ระบุว่าเป็นฮวงซุ้ยของสตรี ที่ถึงแก่กรรมในสมัยว่านลี่ แห่งราชวงศ์เหม็งซึ่งตรงกับ พ.ศ. ๒๑๑๖ – ๒๑๖๓ ย่อมชี้ให้เห็นว่าอย่างน้อยชาวจีนก็ได้เข้ามาอยู่ในเมืองตานีตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่เมืองตานียังอยู่ที่ริมทะเลตำบลตันหยงลูโล๊ะ
ในสมัยเจ้าหญิงบีรูครองเมืองตานีนี่เองที่ได้มีการกล่าวถึงการหล่อปืนใหญ่ทองเหลือง ๓ กระบอกคือพญาตานี ศรีนครี และมหาลาลอ โดยช่างชาวจีนที่เข้ารีตเป็นมุสลิมชื่อลิ้มโต๊ะเคี่ยม ซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้เก็บภาษีเข้าออกที่ท่าเรือปากอ่าวเมืองตานี เอกสารบางฉบับว่าลิ้มโต๊ะเคี่ยมเป็นเชื้อพระวงศ์ของจีนที่มีปัญหาทางการเมืองหลบหนีมา บางฉบับก็ว่าเป็นหัวหน้าโจรสลัดใหญ่ของทะเลจีนใต้ แต่ที่มีหลักฐานชัดเจนคือลิ้มโต๊ะเคี่ยมได้ภรรยาเป็นชาวปัตตานีและเข้ารีตเป็นมุสลิมตามภรรยา
ทางเมืองจีน มารดาของลิ้มโต๊ะเคี่ยมได้ทราบข่าวว่าลูกชายเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม และแต่งงานอยู่ที่เมืองตานีไม่ยอมกลับเมืองจีนก็มีความเสียใจเป็นอันมาก จึงได้ส่งธิดาคือ ลิ้มกอเหนี่ยว และน้องสาวเดินทางไปยังเมืองตานีเพื่อตามให้ลิ้มโต๊ะเคี่ยมกลับไปเมืองจีน เมื่อเดินทางมาถึงเมืองตานีพบว่าลิ้มโต๊ะเคี่ยมมีความสุขกับภรรยา ไม่ยอมกลับไปพบมารดาที่เมืองจีน จึงได้พำนักอยู่ที่เมืองตานีเพื่อจะเกลี้ยกล่อมให้ลิ้มโต๊ะเคี่ยมเห็นแก่มารดาที่เมืองจีน
ในขณะนั้นเจ้าเมืองตานีกำลังก่อสร้างมัสยิดเพื่อใช้ประกอบศาสนกิจ โดยมอบให้ลิ้มโต๊ะเคี่ยมเป็นนายช่างออกแบบและก่อสร้าง ลิ้มโต๊ะเคี่ยมได้อุทิศกายและใจให้กับงานที่ได้รับมอบหมาย ยิ่งทำให้ลิ้มกอเหนี่ยวเกิดความโกรธและน้อยใจในตัวพี่ชาย พยายามอ้อนวานพี่ชายให้เห็นแก่มารดาก็ไม่สำเร็จ จึงได้สาบแช่งไว้ว่า “แม้พี่ชายจะมีความสามารถในการก่อสร้างเพียงใดก็ตาม แต่ขอให้สร้างมัสยิดนี้ไม่สำเร็จ” และแอบไปผูกคอตายที่ต้นมะม่วงหิมพานต์ด้านข้างมัสยิดที่กำลังก่อสร้าง ลิ้มโต๊ะเคี่ยมเมื่อเห็นน้องสาวตายก็ได้ทำการฝังศพไว้ที่ใต้ต้นมะม่วงหิมพานต์นั้น แล้วทำการก่อสร้างมัสยิดต่อไปจนเกือบเสร็จอยู่ในขั้นก่อสร้างโดมหลังคา วันหนึ่งอย่างไม่คาดฝันเกิดฟ้าผ่าลงมายังโดมที่กำลังสร้างจนเสียหายหมดทั้งๆที่ไม่มีวี่แววพายุฝนแต่อย่างใด ลิ้มโต๊ะเคี่ยมจึงทำการก่อสร้างโดมหลังคาใหม่ แต่แล้วสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นอีก คือเกิดฟ้าผ่าลงมายังยอดโดมอีกครั้ง ทำให้ลิ้มโต๊ะเคี่ยมนึกถึงคำสาบแช่งของลิ้มกอเหนี่ยวขึ้นได้ จึงเกิดความท้อใจเลิกล้มการก่อสร้างมัสยิดเพราะคิดว่าคำสาบแช่งของน้องสาวมีความศักดิ์สิทธิ์
ต่อมาชาวเมืองตานี เมื่อทราบข่าวว่าการก่อสร้างมัสยิดไม่สำเร็จ เพราะคำสาบแช่งของลิ้มกอเหนี่ยว ก็พากันมากราบไหว้บนบานศาลกล่าวขอความช่วยเหลือต่างๆนานา ซึ่งก็สัมฤทธิ์ผลตามที่ขอ ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของลิ้มกอเหนี่ยวระบือไปทั่ว จนกล่าวขานเรียกกันว่า “เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว” หรือ “โต๊ะกงแม๊ะ” เป็นที่นับถือของชาวเมืองตานีตราบจนทุกวันนี้
หลังจากสมัยของเจ้าหญิงบีรู เมืองตานีมีเจ้าผู้ครองเมืองอีก ๒ ท่านคือ เจ้าหญิงอูงู และเจ้าหญิงกูนิง ก็เป็นอันสิ้นสุดวงศ์โกตามหลิฆัยในปีพ.ศ. ๒๒๓๐ หลังจากนั้นเมืองตานีมีเจ้าผู้ครองเปลี่ยนเรื่อยมา จนถึงสมัยราชวงศ์กลันตัน ตนกูปะสา หรือตนกูมูฮัมหมัด บือซาร์ ซึ่งปกครองเมืองตานีในปี พ.ศ. ๒๓๘๘ - ๒๓๙๙ เห็นว่าทำเลที่ตั้งเมืองตานีเดิมไม่เหมาะสม จึงย้ายเมืองตานีไปอยู่ที่ตำบลจะบังติกอในปัจจุบันนี้ ส่วนชาวจีนในเมืองตานีเดิม สันนิษฐานว่าตั้งหลักแหล่งอยู่ที่บริเวณตำบลอาเนาะรูในปัจจุบัน
จากหลักฐานจารึกภายในศาลเจ้าเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวระบุว่าตั้งขึ้นเมื่อปีบ้วนเละที่ ๒ แห่งราชวงศ์เหม็ง ตรงกับ พ.ศ. ๒๑๑๗ สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งธรรมเนียมของชาวจีนเมื่อไปตั้งถิ่นฐานที่ใดก็จะจัดตั้งศาลเจ้าประจำท้องถิ่นของตนขึ้นเรียกว่าศาลเจ้าปุนเถ้ากง ซึ่งเดิมศาลเจ้าเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวก็เรียกกันว่าศาลปุนเถ้ากงเช่นกัน และเรียกบริเวณบ้านเรือนชาวจีนเหล่านี้ว่ากะดาจีนอ หรือตลาดจีน ซึ่งปัจจุบันคือหัวตลาดนั่นเอง นอกจากนี้ผู้ชำนาญการทางด้านสถาปัตยกรรมโบราณของกรมศิลปากร ซึ่งเคยมาเยี่ยมชมบ้านเรือนโบราณในถนนอาเนาะรู ได้ให้ข้อมูลว่าบรรดาบ้านจีนโบราณหลายหลังเช่นบ้านเลขที่ ๕ – ๙ ถนนอาเนารู และบ้านเลขที่ ๒๗ ถนนอาเนาะรู ซึ่งเป็นบ้านต้นตระกูลคณานุรักษ์ เป็นสถาปัตยกรรมจีนโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา
เมื่อถึงสมัยของตนกูสุไลมานซารีฟุดดิน ซึ่งนับเป็นเจ้าเมืองคนที่ ๔ แห่งราชวงศ์กลันตันนับตั้งแต่ย้ายเมืองมายังที่ใหม่ ซึ่งปกครองเมืองตานีตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๓ – ๒๔๔๒ ได้มีการสร้างวังเจ้าเมืองขึ้นใหม่ที่ตำบลจะบังติกอ และสร้างมัสยิดขนาดใหญ่ขึ้นใกล้ๆวังเจ้าเมือง การก่อสร้างวังเจ้าเมืองในครั้งนั้นได้รับความร่วมมือจากคุณพระจีนคณานุรักษ์ (จูล้าย คณานุรักษ์) ซึ่งเป็นผู้นำชาวจีนในเมืองตานีในขณะนั้น จัดหาช่างและวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างเป็นจำนวนมากไปช่วย ซึ่งยังคงเห็นร่องรอยของสถาปัตยกรรมแบบจีนอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะเป็นประตูกำแพงลายเมฆ หรือกระเบื้องเขียวช่องลมลายจีนเป็นต้น แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นของชาวจีนกับชาวเมืองตานีในสมัยนั้น
ความสัมพันธ์ระหว่างตนกูสุไลมานฯ และคุณพระจีนคณานุรักษ์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเมืองตานีอีกเรื่องก็คือ ในอดีตแม่น้ำตานีซึ่งมีต้นน้ำมาจากเขตเมืองยะลา มีความคดเคี้ยวมากเมื่อมาถึงบริเวณบ้านปรีกี อำเภอยะรังในปัจจุบันจะวกเข้าไปในเขตปกครองของเมืองหนองจิก แล้ววกกลับเข้าเมืองตานี พระจีนคณานุรักษ์เมื่อครั้งยังเป็นที่หลวงจีนคณานุรักษ์ได้ทำบันทึกขึ้นกราบบังคมทูลไปยังกรุงเทพฯ เพื่อร้องเรียนกรณีที่ขนแร่ดีบุกจากเหมืองในตำบลถ้ำทะลุ เมืองยะลามายังเมืองตานี ต้องผ่านด่านภาษีของเมืองยะลา เมืองหนองจิก และเมืองตานีถึง ๓ เมืองด้วยกัน ทั้งๆ ที่เมืองหนองจิกเป็นแค่ทางผ่านที่ลำน้ำตานีคดเคี้ยววกเข้าไปเท่านั้น ต่อมาตนกูสุไลมานฯจึงได้เกณฑ์ผู้คนขุดปรับแม่น้ำตานีจากบ้านปรีกีไปยังบ้านอาเนาะบูลูดเป็นระยะทางประมาณ ๗ กิโลเมตร ทำให้แม่น้ำตานีไหลตรงไม่คดเคี้ยวเข้าเขตเมืองหนองจิกจนกระทั่งปัจจุบันนี้
ในบริเวณกะดาจีนอหรือตลาดจีน ยังมีสถานที่สำคัญอีกแห่ง คือวังอุปราชเมืองตานี พระยาพิทักษ์ธรรมสุนทร(ตนกูเดร์) ซึ่งตั้งอยู่ในย่านกะดาจีนอหรือถิ่นของชาวจีน พระยาพิทักษ์ธรรมสุนทรนี้เมื่อครั้งที่พระยาวิชิตภักดี (ตนกูอับดุลกาเดร์ กามารุดดิน) เจ้าเมืองตานีสมัยนั้นถูกจับข้อหากบฏและถูกนำไปคุมขังที่เมืองพิษณุโลก ท่านได้รักษาการในตำแหน่งเจ้าเมืองตานี ต่อมาเมื่อท่านถึงแก่กรรมทายาทได้ขายวังให้หลวงวิชิตศุลกากร (จูอิ้น คณานุรักษ์) น้องชายคนสุดท้องของคุณพระจีนคณานุรักษ์ ซึ่งท่านได้เรี่ยรายเงินจากชาวจีนจัดตั้งเป็นโรงเรียนสอนภาษาจีนขึ้น ปัจจุบันคือบริเวณโรงเรียนจ้องฮั้ว เพราะในสมัยก่อนนั้นบุตรหลานชาวจีนจะทำการเรียนหนังสือจีนกับซินแสที่ศาลเจ้าเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ซึ่งมีสถานที่คับแคบ
ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ตั้งอยู่บนถนนอาเนาะรู เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ นายเคี่ยม สังสิทธิเสถียร ได้เคยแปลจารึกการสร้างศาลเจ้าแม่ฯ ว่า สร้างในสมัยราชวงศ์เหม็ง ศักราชบ้วนเละปีที่ ๒ ตรงกับ พ.ศ. ๒๑๑๗ สมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาแห่งกรุงศรีอยุธยา เดิมทีเรียกว่า ศาลปุนเถ้ากง โดยทั่วไป ศาลปุนเถ้ากงหมายถึงศาลเจ้าประจำชุมชนหรือตลาดของชาวจีน ศาลปุนเถ้ากงไม่ได้มีเทพเจ้าเฉพาะเจาะจง ดังนั้นจะพบว่าศาลปุนเถ้ากงแต่ละแห่ง มีเทพเจ้าประจำศาลเจ้าต่างกัน ไม่มีหลักฐานว่าศาลปุนเถ้ากงที่ปัตตานีในสมัยนั้นมีเทพเจ้าองค์ใดประจำศาลเจ้ามาก่อน จนกระทั่งเมื่อ คุณพระจีนคณานุรักษ์ ได้อัญเชิญพระหมอ หรือโจ๊วซูกง มาเป็นเทพประจำศาลเจ้า ก็เลยเรียกว่า ศาลเจ้าซูก๋ง หรือศาลโจ๊วซูกง และมาเรียกว่าศาลเจ้าเล่งจูเกียง หรือศาลเจ้าแม่ลิ่มกอเหนี่ยว ในภายหลังจนกระทั่งทุกวันนี้ จากบันทึกของนายอนันต์ คณานุรักษ์เล่าว่า บรรพบุรุษของตระกูลคณานุรักษ์ คือหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง (เตียงซิ่น หรือปุ่ย แซ่ตัน) ได้ริเริ่มทำการบูรณะศาลเจ้าแม่ฯ เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๐๗
มูลเหตุที่ได้มีการอัญเชิญพระหมอหรือโจ๊วซูกง มาประดิษฐานในศาลเจ้าเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เนื่องจากมีชาวบ้านไปพบขอนไม้สีดำลอยมาติดอยู่ที่คลองอาเนาะซูงา บริเวณสะพานบั่นเฉ้ง ถนนปัตตานีภิรมย์ในปัจจุบัน จึงใช้มีดขอสับขึ้นมาเพื่อนำไปเป็นไม้ฟืน ปรากฏว่ามีน้ำสีแดงคล้ายเลือดไหลมาจากท่อนไม้นั้น องค์โจ๊วซูกงได้ประทับทรงชาวบ้านผู้นั้น แล้วอุ้มท่อนไม้นั้นขึ้นมาจากคลอง คุณพระจีนคณานุรักษ์จึงรีบมาดูพบว่าท่อนไม้นั้นอันที่จริงแล้วเป็นไม้แกะสลักเป็นองค์พระขนาดใหญ่ จึงได้อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ ศาลเจ้าปุนเถ้ากง ที่กะดาจีนอ เป็นองค์ประธานของศาลเจ้า ชาวบ้านจึงเรียกศาลเจ้าปุนเถ้ากงว่า “ศาลโจ๊วซูกง” เป็นที่เคารพสักการะของชาวจีนในเมืองตานี
ต่อมาคุณพระจีนคณานุรักษ์ ซึ่งเป็นกัปตันจีน หรือนายอำเภอจีนในสมัยนั้นได้ป่วยเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งรักษาอย่างไรก็ไม่หาย จึงได้ไปไหว้พระโจ๊วซูกง หรือพระหมอซึ่งเป็นพระประธานในศาลเจ้าปุนเถ้ากง ศาลเจ้าประจำท้องถิ่นตลาดจีนเมืองตานี พระโจ๊วซูกงได้ประทับร่างทรงแล้วสั่งให้หลวงจีนคณานุรักษ์ไปทำการกราบไหว้ขอเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวที่ตำบลกรือเซะให้ช่วยรักษา ร่างทรงของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวได้ขอให้หลวงจีนคณานุรักษ์อัญเชิญวิญญาณของท่านไปประทับที่ศาลเจ้าปุนเถ้ากง หลังจากที่หายจากโรคหลวงจีนคณานุรักษ์ได้ลืมคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ ปรากฏว่าท่านกลับมาเป็นโรคเดิมอีก ท่านจึงนึกขึ้นได้ รีบไปกราบไหว้เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว แล้วให้ช่างทำการแกะสลักไม้มะม่วงหิมพานต์ที่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวผูกคอตายเป็นรูปเจ้าแม่ฯ แล้วอัญเชิญไปประทับที่ศาลเจ้าปุนเถ้ากง และเปลี่ยนชื่อเป็น“ศาลเจ้าเล่งจูเกียง” มาจนปัจจุบันนี้
อาคารศาลเจ้าแม่ลิ่มกอเหนี่ยวเป็นศาลเจ้าชั้นเดียวแบบจีน แบ่งเป็นโถงกลาง ปีกขวา และปีกซ้าย โถงกลางแบ่งเป็นด้านนอกและด้านใน โถงกลางด้านนอกเป็นสถานที่ตั้งโต๊ะจำหน่าย ธูปเทียนและกระดาษทอง และ มีโต๊ะรับเงินทำบุญ และให้ยืมเงินขวัญถุง มีความเชื่อกันว่าถ้ายืมเงิน เจ้าแม่ฯเป็นเงินขวัญถุง จะทำให้ค้าขายเจริญรุ่งเรืองการยืมเงินผู้ยืมต้องลงชื่อ และจ่ายเงินคืนเป็น จำนวน ๒ เท่าของเงินที่ยืม
โถงกลางชั้นในจะมีแท่นบูชา ๓ แท่น แท่นกลางมีไม้แกะสลักเป็นองค์เทพ ๓ องค์ องค์กลางคือ พระหมอ หรือโจ๊วซูกง เป็นเทพประธานของศาลเจ้าแม่ฯ องค์ซ้ายมือเป็นโจ๊วซูกง เช่นกันแต่องค์เล็ก เรียกว่า น้องพระหมอ องค์ขวามือเป็นเจ้าแม่ทับทิม หรือหม่าโจ๊วโป่ ซึ่งมีหลายท่านเข้าใจผิดคิดว่าเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวและเจ้าแม่ทับทิมเป็นองค์เดียวกัน
แท่นบูชาทางด้านซ้ายมีองค์เทพ ๒ องค์ องค์ซ้ายมือ คือเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว องค์ขวามือ คือน้องเจ้าแม่ฯ สำหรับแท่นบูชาทางด้านขวาเป็นที่ประดิษฐานขององค์เจ้าที่หรือแป๊ะกงอยู่ทางด้านซ้าย ส่วนทางขวาเป็นเจ้าพ่อเสือ หรือเฮี้ยงเทียนเซี่ยงตี่ หรือตั่วเล่าเอี๊ย ซึ่งเป็นเทพประจำสำนักบู๊ตึ๊ง นอกจากนี้เหนือประตูทางเข้าโถงกลางจะมีหิ้งบูชาเทวดา
โถงทางขวาเมื่อออกจากโถงกลางจะเห็นรูปปูนปั้นติดฝาผนัง คือเทพซาเจียงกุน ถัดไปทางซ้ายมีแท่นบูชาประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิม
โถงทางซ้าย เป็นแท่นบูชาประดิษฐาน องค์พระกุนเต้กุนหรือเทพเจ้ากวนอู ซึ่งมีหลายองค์ เรียกชื่อแต่ละองค์ตามลักษณะ ได้แก่องค์ถือหนวด องค์ไม่ถือหนวด หรือเรียกตามผู้ครอบครององค์พระเดิม ได้แก่องค์หลวงประสิทธิ์ ซึ่งเดิมเป็นองค์พระที่อยู่ประจำบ้านของหลวงประสิทธิ์บุรีรมย์(ก่างเซ่งหิ้น กิติสาธร) กรมการเมืองตานี อดีตผู้จัดการศาลเจ้าแม่ฯ คนที่ ๒ ที่ถนนปัตตานีภิรมย์ ต่อมาได้อัญเชิญมาไว้ที่ศาลเจ้าแม่ฯ
ลานด้านหน้าตรงข้ามศาลเจ้าแม่ฯจะมีแท่นบูชาเทวดา และสถูปสำหรับเผากระดาษเงิน กระดาษทอง เดิมทีลานนี้เป็นดิน เพิ่งจะมาลาดคอนกรีตเมื่อไม่นานมานี้
นอกจากนี้ยังมีองค์พระกุนเต้กุน และองค์พระเซ่งเต้เอี่ย (เรียกเพี้ยนมาจากเฮี้ยงเทียนเซี่ยงตี่) ซึ่งเป็นพระประจำตัวของ คุณพระจีนคณานุรักษ์ ประดิษฐานอยู่ ณ บ้านเลขที่ ๓/๑ ถนนอาเนาะรู ของนายสุวิทย์ คณานุรักษ์ ทั้ง ๒ องค์นี้จะเข้าต้องร่วมในพิธีแห่เจ้าแม่ฯ เป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ครั้งอดีต ต่อมาเนื่องจากมีชายหนุ่มที่ต้องการเข้าร่วมในพิธีเชิญองค์เทพต่างๆ มากขึ้น จึงได้อัญเชิญองค์พระกุนเต้กุน องค์พระใช้เซ่งเอี่ย หรือเทพเจ้าแห่งโชคลาภ และเจ้าแม่กวนอิม ซึ่งประดิษฐาน ณ บ้านเลขที่ ๒๗ ถนนอาเนาะรู ซึ่งเป็นบ้านต้นตระกูลคณานุรักษ์ที่เรียกกันว่า บ้านกงสี และองค์เจ้าที่ ซึ่งประดิษฐาน ณ บ้านเลขที่ ๓ ถนนอาเนาะรู ของนายวิชญะ คณานุรักษ์ ซึ่งเป็นบ้านเดิมของนางเม่งจู โกวิทยา พี่สาวคุณพระจีนฯ เข้าร่วมในพิธีแห่เจ้าแม่ฯ ด้วย
สำหรับพิธีแห่พระสมโภชเจ้าแม่ลิ่มกอเหนี่ยวในทุกปีนั้นจะมีลำดับพิธีการดังนี้
๑. วันสิ้นปีตามปฏิทินจีน ตอนเที่ยงคืนจะมีการเปิดศาลเจ้าแม่ฯ รวมทั้งบ้านกงสี และบ้านเลขที่ 3 ถนนอาเนาะรู เพื่อให้ประชาชนได้มาทำการสักการะ และมีการเชิดสิงโตถวาย พร้อมกับอัญเชิญองค์เจ้าที่จากบ้านเลขที่ ๓ ถนนอาเนาะรู ไปให้ประชาชนบูชา ณ ศาลเจ้าแม่ฯ
๒. วันที่ ๑๒ เดือน ๑ จีน ตอนเช้าจะมีการแห่อัญเชิญน้องพระหมอ และน้องเจ้าแม่ฯ ไปยังบ้านเลขที่ ๓/๑ ถนนอาเนาะรู และอัญเชิญองค์เจ้าที่กลับไปบ้านเลขที่ ๓ ถนนอาเนาะรู พร้อมกับอัญเชิญเจ้าแม่กวนอิมจากบ้านกงสีไปยังศาลเจ้าแม่ฯ
๓. วันที่ ๑๓ เดือน ๑ จีน ตอนเที่ยงคืนจะมีพิธีกรรมเตรียมวัตถุมงคลที่จะใช้ในงานแห่พระฯ ได้แก่
- ยันต์ หรือ ฮู้ เป็นกระดาษแถบขนาดกว้างประมาณ ๒ นิ้ว ยาวประมาณ ๖ นิ้ว ใน ๑ ชุด จะมียันต์พระหมอ ๑ แผ่น มีสีเหลือง ส่วนอีก ๒ แผ่นมีสีแดงเป็นยันต์เจ้าแม่ลิ่มกอเหนี่ยว และ เจ้าแม่ทับทิม ยันต์นี้จะพิมพ์สำเร็จรูปมาแล้ว ในพิธีจะนำฮู้เหล่านี้มาประทับตราศักดิ์สิทธิ์ของศาลเจ้าแม่ฯ
- น้ำมนต์ เอาไว้สำหรับรดตัวผู้ที่จะเข้าลุยไฟ เตรียมโดยสูบน้ำจากบ่อน้ำภายในศาลเจ้าแม่ฯ ใส่โอ่งขนาดใหญ่ไว้ แล้วนำขี้เถ้าธูปจากกระถางธูปหน้าแท่นบูชาทั้ง ๕ แท่น มาโรยในโอ่งน้ำ ปิดผนึกฝาโอ่งด้วยฮู้ที่เตรียมไว้ตั้งไว้หน้าศาลเจ้าแม่ฯ
- ถ่านสำหรับลุยไฟ ถ่านที่ใช้เป็นถ่านไม้เนื้ออ่อน ก้อนเล็กๆ ขนาดประมาณ ๒ นิ้ว ในการก่อกองไฟแต่ละปีจะใช้ถ่านประมาณ ๒๐ - ๒๕ กระสอบ โดยจะต้องนำถ่านทั้งหมดนี้มาล้าง และคัดเศษขยะออก แล้วตากให้แห้งเก็บไว้ นำถ่านมาจำนวนหนึ่งเตรียมเป็นเชื้อสำหรับจุดไฟ โดยนำมาประทับตราศักดิ์สิทธิ์และพรมน้ำมนต์
- ใบมะพร้าว เอาไว้สำหรับใส่ในกองไฟเพื่อให้เกิดเปลวไฟสวยงาม จัดเตรียมโดยนำใบมะพร้าว มาล้างน้ำให้สะอาด แล้วตากให้แห้ง นำใบมะพร้าวมาส่วนหนึ่งประทับตราและพรมน้ำมนต์
- เกลือ และข้าวสาร เอาไว้สำหรับซัดเข้าในกองไฟ และโปรยเวลาปักหลัก เป็นการปัดรังควาน นำเกลือ และ ข้าวสารมาพรมน้ำมนต์
- ผ้าแดงผูกองค์พระ เป็นผ้าแดงพับทบกว้างประมาณ ๖ นิ้ว ยาวประมาณ ๒.๕ เมตร เอาไว้สำหรับมัดองค์พระกับเกี้ยว เตรียมไว้ ๑๙ ผืนเท่าจำนวนองค์พระที่จะเข้าพิธี นำผ้าแดงมาประทับตราศักดิ์สิทธิ์
- ผ้าแดงผูกข้อมือ เอาไว้สำหรับผูกข้อมือผู้ที่เข้าพิธีแห่พระ เตรียมโดยนำฮู้มาโรยด้วยขี้เถ้าธูป พับให้เป็นก้อน แล้วห่อด้วยผ้าแดงยาวประมาณ ๑๕ นิ้ว ซึ่งในแต่ละปีจะเตรียมไว้ประมาณ ๑,๐๐๐ ชุด
- หลักไม้ เป็นไม้ไผ่ขนาดกว้างประมาณ ๒ นิ้ว ยาวประมาณ ๘ นิ้ว หุ้มด้วยฮู้ เอาไว้ให้พระหมอ ปักหลักบอกเขต
๔. วันที่ ๑๔ เดือน ๑ จีน ประมาณ ๕ ทุ่มจะทำการเชิญเกี้ยวขององค์พระนอกศาลเจ้าแม่ฯ ออกจากศาลเจ้าแม่ฯ ไปยังแต่ละบ้าน และเวลาเที่ยงคืนจะทำการปิดประตูศาลเจ้าแม่ฯ เพื่อเริ่มพิธีกรรมทอดเบี้ยเสี่ยงทาย โดยผู้จัดการศาลเจ้าแม่ฯ จะเป็นผู้ทอดเบี้ยเสี่ยงทาย วิธีการทอดเบี้ยคือถือลูกเบี้ยวนเหนือกระถางธูปใหญ่หน้าองค์พระหมอ ๓ รอบ แล้วโยนขึ้นเหนือศีรษะ จนกว่าจะได้ลูกเบี้ยคว่ำ ๑ อัน หงาย ๑ อัน การเสี่ยงทายจะเสี่ยงทายดังนี้
- ถามเวลาที่จะนำเกี้ยวเข้าศาลเจ้าฯ
- ถามเวลาที่จะเชิญองค์พระประทับบนเกี้ยว
- ถามลำดับองค์พระที่จะประทับบนเกี้ยว
- ถามเวลาเปิดประตูศาลเจ้าฯอัญเชิญองค์พระออกแห่
- ถามเวลาที่จะก่อกองไฟ
๕. วันที่ ๑๕ เดือน ๑ จีน หลังจากการทอดเบี้ยแล้ว เมื่อถึงเวลาผู้ที่จะทำหน้าที่หามเกี้ยวก็จะนำเกี้ยวเข้าในศาลเจ้าฯเมื่อได้เวลาเชิญองค์พระประทับบนเกี้ยว ผู้ทำพิธีจะอุ้มองค์พระลงจากแท่นไปประทับบนเกี้ยว โดยจะมีคนใช้กระดาษทองกอจี๊จุดไฟโบกปัดนำหน้าเป็นการปัดรังควานนำทางตลอด แล้วใช้ผ้าแดงที่เตรียมไว้มัดองค์พระให้ยึดติดกับเกี้ยวอย่างแน่นหนา ผู้ที่ทำหน้าที่มัดองค์พระจะต้องมีประสบการณ์ เพราะถ้ามัดไม่แน่นเวลาหามเกี้ยวมีการโยกจะทำให้องค์พระสั่นคลอน องค์พระซึ่งเป็นไม้แกะสลักจะแตกหักได้
จากนั้นเมื่อถึงเวลาอัญเชิญองค์พระออกจากศาลเจ้า ประธานก็จะเปิดประตูศาลเจ้าฯ ผู้ที่หามเกี้ยวก็จะออกไป ในขบวนแห่พระนี้ เกี้ยวขององค์พระหมอจะมีผู้อัญเชิญฟันปลาฉนากศักดิ์สิทธิ์ และหีบบรรจุหลักไม้กับเกลือและข้าวสารเดินตามตลอด ส่วนเกี้ยวขององค์เจ้าแม่ฯ ก็จะมีขบวนงิ้วและมโนราห์เดินตามตลอดเช่นกัน ในระหว่างที่ภายในศาลเจ้าแม่ฯ ทำพิธีอยู่ ที่บ้านกงสี และบ้านเลขที่ ๓ และ ๓/๑ ถนนอาเนาะรู ก็จะมีการทำพิธีอัญเชิญองค์พระลงเกี้ยวเช่นเดียวกัน
เมื่ออัญเชิญองค์พระออกจากศาลเจ้าฯ หมดแล้ว ขบวนเกี้ยวองค์พระต่างๆ ก็จะแห่อยู่บริเวณด้านหน้าศาลเจ้าฯ ผู้ที่หามเกี้ยวพระหมอจะทำการปักหลัก วิธีปักหลักก็โดยให้ผู้ที่หามเกี้ยวทางด้านหน้าทั้ง ๒ คนทรุดตัวลง นอนคว่ำหน้าราบไปกับพื้น ให้ปลายคันหามทิ่มพื้น เจ้าหน้าที่จะตอกหลักไม้ ณ ตำแหน่งนั้น แล้วโปรยเกลือและข้าวสาร องค์พระหมอจะปักหลักที่ด้านหลังโรงมโนราห์ทั้งด้านขวาและซ้าย แล้วไปปักหลักที่หัวถนนอาเนาะรูด้านทิศตะวันออกทั้ง ๒ ฟาก จากนั้นจะไปปักหลักก่อกองไฟที่กลางลานหน้าศาลเจ้าฯ ผู้ทำพิธีจะจุดธูปเทียนบูชาตำแหน่งที่ปักหลักกองไฟ เตรียมทำพิธีก่อไฟตามฤกษ์ต่อไป จากนั้นพระหมอจะไปปักหลักในสวนหลังบ้านเลขที่ ๒๙ อาเนาะรู ซึ่งเป็นบ้านเพียงหลังเดียวในอดีตที่องค์พระหมอเข้าไปปักหลัก เนื่องจากเป็นบ้านเดิมของ คุณพระจีนคณานุรักษ์ หลังจากนั้นจะไปปักหลักที่หัวถนนอาเนาะรูด้านทิศตะวันตกตรงริมแม่น้ำปัตตานี ขบวนจะแห่ไปตามถนนปัตตานีภิรมย์ ปักหลักที่เชิงสะพานบั่นเฉ้ง ซึ่งเป็นสถานที่องค์พระหมอลอยน้ำมาติดอยู่ในอดีต จากนั้นขบวนแห่พระจะไปทำพิธีลุยน้ำที่สะพานเดชานุชิต เมื่อเสร็จพิธีลุยน้ำแล้วขบวนจะมุ่งหน้าไปตำบลจะบังติกอ แล้วปักหลักที่บริเวณท่าน้ำเก่าจะบังติกอ ใกล้วังเก่าเจ้าเมืองปัตตานี องค์พระหมอจะไปปักหลัก อีกครั้งที่โค้งถนนยะรัง ตำบลตะลุโบะ แล้วกลับเข้าไปในเขตตลาด ก่อนกลับไปทำพิธีลุยไฟ
จากเรื่องราวที่กล่าวมาข้างต้นคงจะทำให้หายกังขาว่าเหตุใดการแห่สมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว จึงแห่ไปยังย่านตำบลจะบังติกอ ซึ่งเป็นถิ่นฐานของชาวไทยอิสลาม ทั้งนี้เนื่องจากการอัญเชิญเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวและองค์เทพเจ้าทั้งหลายออกแห่สมโภช ก็เพื่อให้เกิดความเป็นศิริมงคลต่อชาวจีนในเมืองตานี เส้นทางการแห่สมโภชจึงไปตามเส้นทางเศรษฐกิจของเมืองตานีในสมัยก่อน คือจากศาลเจ้าเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเลียบไปตามริมแม่น้ำตานี จนกระทั่งถึงท่ากือเรกูดอซึ่งเป็นท่าภาษีเมืองตานี ปัจจุบันคือบริเวณริมน้ำใกล้บ้านคุณมุข สุไลมาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานี แล้วแห่ผ่านไปทางวังจะบังติกอ กลับเข้าสู่ย่านกะดาจีนอ
สำหรับพิธีลุยน้ำนั้นมีผู้เข้าใจผิดคิดว่าองค์พระแสดงปาฏิหารย์ลอยน้ำได้ อันที่จริงผู้ที่จะหามเกี้ยวลงลุยน้ำนั้นจะต้องว่ายน้ำเป็น มิฉะนั้นจะจมเพราะเกี้ยวองค์พระแต่ละองค์จะหนักมาก พิธีลุยน้ำมิได้มีเพื่อแสดงอภินิหาร แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการปัดรังควาน ทำให้เกิดศิริมงคลต่อแม่น้ำปัตตานี ซึ่งเปรียบเสมือนหลอดเลือดใหญ่ของเมืองปัตตานี เพราะเป็นเส้นทางลำเลียงสินค้า มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจของเมืองปัตตานีในสมัยอดีตเป็นอันมากดังได้กล่าวมาแล้ว
สำหรับพิธีลุยไฟ ซึ่งเป็นพิธีที่สำคัญที่สุด เป็นการลุยไฟเพื่อทำลายอาถรรพ์สิ่งชั่วร้ายทั้งหลาย และเป็นการสะเดาะห์เคราะห์ให้ผู้หามเกี้ยวลุยไฟ และเป็นศิริมงคลแก่เมืองตานี หลังจากองค์พระหมอทำการปักหลักเขตกองไฟแล้ว เมื่อถึงฤกษ์ก่อกองไฟ ผู้ทำพิธีจะทำการจุดเชื้อไฟจากภายในศาลเจ้าฯ แล้วมาก่อกองไฟตรง ตำแหน่งหลักไฟ โดยกองไฟจะมีขนาดกว้างยาวประมาณ ๓ เมตร และสูงประมาณครึ่งเมตร ครั้นได้ฤกษ์ลุยไฟขบวนองค์พระทั้งหมดจะเดินเวียนรอบกองไฟทวนเข็มนาฬิกา ๓ รอบ แล้วออกไปรดน้ำมนต์ที่หน้าประตูศาลเจ้าฯ แล้วจึงลุยไฟ
ขบวนลุยไฟจะเริ่มจากผู้อัญเชิญฟันปลาฉนากศักดิ์สิทธิ์ ติดตามด้วยผู้อัญเชิญหีบบรรจุหลักไม้ศักดิ์สิทธิ์ แล้วจึงเป็นขบวนองค์พระ ซึ่งมักจะเริ่มด้วยองค์พระหมอ สำหรับองค์เจ้าแม่ฯ นั้นจะมีงิ้วและมโนราห์เดินเกาะเกี้ยวเข้าลุยไฟด้วย ต่อจากขบวนองค์พระก็จะเป็นขบวนสิงโต จากนั้นขบวนทั้งหมดก็ลุยไฟกลับตามลำดับอีกนับเป็น ๑ รอบ ในระหว่างลุยไฟจะมีการเกลี่ยถ่านในกองไฟให้เรียบอยู่ในระดับตลอดเวลา และจะใส่ใบมะพร้าวเพื่อให้มีเปลวไฟสวยงาม เจ้าหน้าที่จะซัดเกลือและข้าวสารเข้าไปในกองไฟเป็นระยะๆ เพื่อเป็นการปัดรังควาน ปกติแล้วการลุยไฟจะลุยกันประมาณ ๕ รอบ ก็เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี ผู้ที่หามเกี้ยวเป็นชุดสุดท้ายก็จะอัญเชิญองค์พระกลับเข้าภายในศาลเจ้าฯ จากนั้นก็จะทำการอัญเชิญองค์พระขึ้นจากเกี้ยวกลับไปประดิษฐานยังแท่นบูชา ซึ่งพิธีการก็เหมือนกับการอัญเชิญองค์พระประทับบนเกี้ยว ในอดีตนอกจากการลุยน้ำลุยไฟ แล้วยังมีการประทับทรงไต่บันไดดาบ แต่เลิกพิธีไต่บันไดดาบไปตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ คงเหลือแต่พิธีลุยน้ำลุยไฟ
ส่วนการลุยไฟนั้นก็มีผู้สงสัยกันมากว่าร้อนหรือไม่ ข้าพเจ้าขอเล่าประสบการณ์ที่ได้ลุยไฟมาทั้งหมด ๒๐ กว่าครั้งว่า เมื่อเหยียบไปบนกองไฟนั้นจะรู้สึกเหมือนเดินเท้าเปล่าบนพื้นทรายกลางแดดตอนเที่ยง คือจะร้อนพอทนได้ ถึงแม้จะเดินช้าๆ ก็ไม่พอง แต่มีบางปีที่พอเหยียบลงไป จะรู้สึกร้อนวูบขึ้นมา เท้าจะพอง ที่น่าประหลาดก็คือ ผู้ที่หามเกี้ยวเข้าลุยไฟพร้อมกัน ๔ คน บางคนก็พอง บางคนก็ไม่พอง และประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๕ หรือ ๒๕๑๖ ได้มีผู้เดินลุยไฟเข้าไปคนเดียว และนั่งคุกเข่าลงกราบในกองไฟ ปรากฏว่าไม่ได้รับอันตรายจากกองไฟเลย ข้าพเจ้าเองซึ่งเป็นแพทย์ก็ยังไม่สามารถหาเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายในเรื่องนี้ ก็ต้องยกให้เป็นความศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระต่างๆ ที่เรานับถือติดต่อกันมาหลายชั่วอายุคน
คุณปู่อนันต์ คณานุรักษ์ ได้เล่าให้ลูกหลานฟังว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ร่างทรงประจำศาลเจ้าฯ ซึ่งเป็นคนจีนอยู่ที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา บอกว่าเวลาทำพิธีเข้าทรงในงานแห่พระฯ เหนื่อยมาก ร่างกายทนไม่ไหวขอหยุดไม่มาทำพิธีให้ แต่ปรากฏว่าเมื่อใกล้ถึงวันงาน ร่างทรงคนนี้ทั้งวิ่ง ทั้งเดิน ทั้งนั่งรถจากอำเภอบันนังสตา ไปที่ศาลเจ้าฯ โดยไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย ใช้เวลาเดินทางเพียง ๑ วัน ทั้งๆ ที่ในตอนนั้นการเดินทางจากบันนังสตาไปยะลา และจากยะลาไปปัตตานี ถ้าไปโดยรถโดยสารจะต้องใช้เวลา ๒ วัน เป็นที่น่าประหลาดมาก
ข้าพเจ้าหวังว่าบทความของข้าพเจ้าคงจะทำให้ผู้อ่านได้รับทราบเรื่องราวของศาลเจ้าแม่ฯ ในอีกแง่มุม พอสมควร