(ภาพ: นายอนันต์ และนางเสริมสุข (วัฒนายากร) คณานุรักษ์)
นายอนันต์ คณานุรักษ์ มีชื่อจีนว่า ขุ้นขิ้ม เป็นบุตรขุนจำเริญภักดี (บั่นฮก) กับนางอิ่ม ปู่คือคุณพระจีนคณานุรักษ์ ปู่ทวดคือหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ฑ.ศ. ๒๔๓๙ ณ บ้านเลขที่ ๒๙ ถนนอาเนาะรู ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาอีก ๒ คน คือนางเป็กเซี่ย กุลโชติ และนายเสถียร คณานุรักษ์ และมีพี่น้องต่างมารดาอีก ๑๐ คน จากภรรยา ๖ คนของขุนจำเริญภักดี
เมื่อเยาว์วัยนายอนันต์ได้อาศัยอยู่กับยายที่บ้านปากฬ่อ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี และเริ่มเข้าโรงเรียนครั้งแรกเมื่ออายุ ๗ ขวบ ที่โรงเรียนวัดตานีนรสโมสร จนจบชั้นประถมปีที่ ๔ จึงได้ขึ้นไปทำงานที่เหมืองแร่ที่ตำบลถ้ำทะลุ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา อาชีพหลักของคนในตระกูลนี้คือการทำเหมืองแร่
เมื่อนายอนันต์อายุได้ ๒๐ ปี ได้สมรสกับนางสาวเสริมสุข วัฒนายากร (น้องสาวขุนธำรงพันธ์ภักดี) มีบุตรธิดารวมทั้งสิ้น ๘ คน ดังนี้
๑. นายมานพ คณานุรักษ์
๒. นายสุนนท์ คณานุรักษ์
๓. นายจำรูญ คณานุรักษ์
๔. นางละออง คณานุรักษ์
๕. นายประเวศ คณานุรักษ์
๖. นายเติมศักดิ์ คณานุรักษ์
๗. นางละมุล สาครินทร์
๘. นางละม่อม สมัครพันธ์
ประสบการณ์การทำงานเพื่อสังคมและส่วนรวมของนายอนันต์ที่มีต่อจังหวัดปัตตานี มีมากมาย อาทิ เป็นเสือป่า, เป็นกรรมการสโมสรข้าราชการ, เป็นนายกสมาคม และกรรมการสมาคมนักเรียนเก่าโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ปัตตานี, เป็นกรรมการในการเรี่ยไรเงินสงเคราะห์ประชาชนสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒, เคยร่วมมือกับหลวงสุนาวินวิวัฒน์เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งข้าหลวงจังหวัดปัตตานี ช่วยกันต่อต้านการยกพลขึ้นบกของทหารญี่ปุ่นเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔, เป็นหัวหน้าหาเงินช่วยราชการทหารในการเรียกร้องเอาดินแดนคืนจากประเทศฝรั่งเศส, เป็นรองผู้อำนวยการป้องกันภัยทางอากาศ ฯลฯ
นายอนันต์ได้สร้างกุฏิไว้ที่วัดปากฬ่อ ๑ หลัง สร้างศาลาพักร้อนที่วนอุทยานน้ำตกทรายขาว ตำบลทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ ๑ หลัง และได้ยกที่ดินที่ติดถนนนาเกลือจำนวน ๑๐ ไร่ ให้ทางราชการสร้างโรงเรียน โดยให้ชื่อว่า "โรงเรียนเมืองปัตตานี"
นายอนันต์ เข้าสู่วงการเมืองท้องถิ่นของปัตตานี เมื่อครั้งรัฐบาลได้จัดตั้งให้มีเทศบาลขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเทศมนตรีสมัยแรกของปัตตานี และอีกหนึ่งสมัยต่อมาที่ขุนเจริญวรเวช (เจริญ สืบแสง) เป็นนายกเทศมนตรี และนายอนันต์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๔๘๙
ในสมัยที่เป็นเทศมนตรีเมืองปัตตานีนี้เองที่นายอนันต์ ได้ขอจดทะเบียนตั้งนามสกุลใหม่ ว่า "คณานุรักษ์" เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ซึ่งเดิมตระกูลนี้ใช้นามสกุลพระราชทานว่า "ตันธนวัฒน์" แต่เพื่อให้ถูกต้องตามสมัยรัฐนิยม ตามคำแนะนำของหลวงสุนาวินวิวัฒน์ ข้าหลวงจังหวัดปัตตานี ในสมัยนั้น จึงได้ใช้ราชทินนามของคุณพระจีนคณานุรักษ์ มาตั้งเป็นนามสกุลใหม่
นายอนันต์ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศจากการเป็นผู้รับนิมิตฝันจากหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ให้สร้างพระเครื่องหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด รุ่นแรก ร่วมกับพระครูวิสัยโสภณ (อาจารย์ทิม) เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๗ เพื่อหารายได้สมทบทุนสร้างพระอุโบสถและบูรณะวัดช้างให้
และนายอนันต์ยังเป็นที่กล่าวขวัญถึงในแวดวงผู้นิยมเลี้ยงนกเขาชวาเสียง ด้วยการเป็นเจ้าของนกเขาชวาเสียงใหญ่ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ชื่อว่า "ลูกแดง" ซึ่งได้มาจากคลอง ๑๙ จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ดังจะเห็นได้จากหนังสือตำรานกเขาชวา ฉบับพิศดาร ของนายประกอบ วรรณประเสริฐ ที่กล่างถึงว่า ".....คุณอนันต์ คณานุรักษ์ แห่งจังหวัดปัตตานี เจ้าของนก "ลูกแดง" สุดที่รักของท่าน และมิ่งขวัญของชาวปัตตานี เป็นนกเสียงค่อนใหญ่ ปลายดี จังหวะช้าสม่ำเสมอ ทั้งจังหวะนอกและจังหวะใน น้ำเสียงดีระรื่นหู ต้นหรือกู้หน้าค่อนข้างยาวไกล ปลายลอยไกล น้ำคำขัน ๔ คำ ขัน -- โก้ว ระ กะ โกง -- ทุกคำชัดเจน เวลาขึ้นรอกรบนกเปิดเสียงมีลีลาพิเศษ เป็นนกดีชั้นหนึ่งของภาคใต้ เคยชนะการประกวดหลายปี และเคยประกบรอกกับนกชื่อ "ยานิง" เสียงสวรรค์ของนราธิวาส ปัจจุบันได้รับยกย่องเป็นยอดนกเสียงที่หาเทียบเคียงมิได้....."
การประกบคู่นกสุดยอดสองนกของภาคใต้นี้ คุณสุนนท์ คณานุรักษ์ บุตรชายคนที่ ๒ ของนายอนันต์ ได้เล่าให้ รศ. มัลลิกา คณานุรักษ์ ฟังว่า คุณวงศ์ ไชยสุวรรณ เป็นผู้จัดการ เพื่อเรียกร้องความสนใจในการหาเสียงเพื่อเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดนราธิวาส โดยจัดขึ้นที่อำเภอสุไหงโกลก ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากประชาชนทั้งฝั่งไทยและฝั่งมาเลเซียเป็นอย่างมาก ทั้งสอกนกนี้เคยประกบรอกประชันกันมาครั้งหนึ่งแล้วที่ปัตตานี แต่ครั้งนั้น "ยานิง" ไม่ค่อยขันและไม่เปิดเสียง ในขณะที่ "ลูกแดง" ขันเพียงนกเดียวทำให้เปรียบเทียบไม่ถูก
คราวนี้ผลปรากฏว่านกเขาทั้งสองนกขันได้ดีไพเราะกังวานไม่แพ้กัน แม้กรรมการก็ไม่อาจตัดสินชี้ขาดได้ กองเชียร์ก็แบ่งเป็นสองฝ่ายพอๆ กัน ในที่สุดก็ได้ข้อยุติว่า เพื่อให้ได้ผลแพ้ชนะ จึงใช้วิธีฟังเสียงนกแบบพิศดาร คือให้กรรมการตัดสินเดินฟังเสียงนกเขาทั้งสองพร้อมกัน และค่อยๆ เดินออกห่างไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ยินเพียงเสียงขันของนกตัวใดตัวหนึ่งเพียงตัวเดียวเท่านั้น ปรากฏว่า "ลูกแดง" เป็นฝ่ายชนะ เพราะขยันขันมากกว่า และคงเพราะหนุ่มกว่า "ยานิง"
ด้วยจากคุณงามความดีทั้งหลายที่ได้นายอนันต์ได้ประกอบให้กับบ้านเมือง ทำให้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๘
นายอนันต์ ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๒ สิริรวมอายุได้ ๗๓ ปี